วันอาทิตย์ที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

วันทอดกฐิน


ทอดกฐิน


ประเพณีการทอดกฐิน ในแต่ละปีกำหนดให้มีการจัดทอดกฐินขึ้นภายใน ๑ เดือน หลังประเพณีออกพรรษา โดยวัดที่จะสามารถรับกฐินได้ ต้องมีพระภิกษุจำพรรษาโดยไม่ขาดพรรษาเลย ไม่ต่ำกว่า ๕ รูป และแต่ละวัดสามารถรับกฐินได้ปีละ ๑ ครั้ง
การทอดกฐินเป็นกาลทาน ตามพระวินัยกำหนดกาลไว้ คือ ตั้งแต่แรม 1 ค่ำ เดือน 11 ถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ผู้มีจิตศรัทธาเลื่อมใส ใคร่จะทอดกฐิน ก็ให้ทอดได้ในระหว่างระยะเวลานี้ จะทอดก่อนหรือทอดหลังกำหนดนี้ ก็ไม่เป็นการทอดกฐิน

กฐินแปลว่าอะไร?
คำว่า กฐิน แปลว่า ไม้สะดึง คือกรอบไม้ชนิดหนึ่งสำหรับขึงผ้าให้ตึง สะดวกแก่การเย็บ ในสมัยโบราณเย็บผ้าต้องเอาไม้สะดึงมาขึงผ้าให้ตึงเสียก่อนแล้วจึงเย็บเพราะช่างยังไม่มี ความชำนาญเหมื่อนสมัยปัจจุบันนี้ และเครื่องมือในการเย็บก็ยังไม่เพียงพอเหมือนจักรเย็บผ้า ในปัจจุบัน การทำจีวรในสมัยโบราณจะเป็นผ้ากฐินหรือแม้แต่จีวรอันมิใช่ผ้ากฐิน ถ้าภิกษุทำเอง ก็จัดเป็นงานเอิกเกริกทีเดียว เช่นตำนานกล่าวไว้ว่า การเย็บจีวรนั้น พระเถรานุเถระต่างมาช่วยกัน เป็นต้นว่า พระสารีบุตรพระมหาโมคคัลลานะพระมหากัสสปะแม้สมเด็จพระบรมศาสดาก็เสด็จลงมาช่วย ภิกษุสามเณรอื่น ๆ ก็ช่วยขวนขวายในการเย็บจีวร อุบาสกอุบาสิกาก็จัดหาน้ำดื่มเป็นต้น มาถวายพระภิกษุสงฆ์ มีองค์พระสัมมาสัมพุทธะเป็นประธาน โดยนัยนี้ การเย็บจีวรแม้โดยธรรมดา ก็เป็นการต้องช่วยกันทำหลายผู้หลายองค์ (ไม่เหมือนในปัจจุบัน ซึ่งมีจีวรสำเร็จรูปแล้ว)

ผู้ประสงค์จะทอดกฐินจะทำอย่างไร

พุทธศาสนิกชนทั่วไป ย่อมถือกันว่า การทำบุญทอดกฐินเป็นกุศลแรง เพราะเป็นกาลทาน ทำได้เพียงปีละ 1 ครั้งและต้องทำในกำหนดเวลาที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติไว้ ดังนั้นถ้ามีความเลื่อมใสใคร่จะทอดกฐินบ้างแล้ว พึ่งปฏิบัติดังต่อไปนี้

จองกฐิน เมื่อจะไปจองกฐิน ณ วัดใด พอเข้าพรรษาแล้ว พึงไปมนัสการสมภารเจ้าอาวาสวัดนั้น กราบเรียนแก่ท่านว่าตนมีความประสงค์จะขอทอดกฐิน แล้วเขียนหนังสือปิดประกาศไว้ ณ วัดนั้น เพื่อให้รู้ทั่ว ๆ กัน การที่ต้องไปจองก่อนแต่เนิ่น ๆ ก็เพื่อให้ได้ทอดวัดที่ตนต้องการ หากมิเช่นนั้นอาจมีผู้อื่นไปจองก่อน นี้กล่าวสำหรับวัดราษฎร์ ซึ่งราษฎรมีสิทธิจองได้ทุกวัด แต่ถ้าวัดนั้นเป็นวัดหลวง อันมีธรรมเนียมว่าต้องได้รับกฐินหลวงแล้ว ทายกนั้น ครั้นกราบเรียนเจ้าอาวาสท่านแล้ว ต้องทำหนังสือยื่นต่อกองสัมฆการีกรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ ขอเป็นกฐินพระราชทาน ครั้นคำอนุญาตตกไปถึงแล้ว จึงจะจองได้

เตรียมการ ครั้นจองกฐินเรียบร้อยแล้ว เมื่อออกพรรษาแล้ว จะทอดกฐินในวันใด ก็กำหนดให้แน่นอน แล้วกราบเรียนให้เจ้าอาวาสวัดท่านทราบวันกำหนดนั้น ถ้าเป็นอย่างชนบท สมภารเจ้าวัด ก็บอกติดต่อกับชาวบ้านว่าวันนั้นว่านี้เป็นวันทอดกฐิน ให้ร่วมแรงร่วมใจกันจัดหาอาหารไว้เลี้ยงพระ และเลี้ยงผู้มาในการทอดกฐิน

ครั้นกำหนดวันทอดกฐินแล้ว ก็เตรียมจัดหาเครื่องผ้ากฐิน คือไตรจีวร พร้อมทั้งเครื่องบริขารอื่น ๆ ตามแต่มีศรัทธามากน้อย (ถ้าจัดเต็มที่มักมี 3 ไตร คือ องค์ครอง 1 ไตร คู่สวดองค์ละ 1 ไตร)

วันงาน พิธีทอดกฐินเป็นบุญใหญ่ดังกล่าวมาแล้ว ดังนั้น โดยมากจึงจัดงานเป็น 2 วัน วันต้นตั้งองค์พระกฐินที่บ้านของเจ้าภาพก็ได้ จะไปตั้งที่วัดก็ได้ กลางคืนมีการมหรสพครึกครื้นสนุกสนาน ญาติพี่น้องและมิตรสหายก็มักจะมาร่วมอนุโมทนา รุ่งขึ้นเป็นที่วัดทอด ถ้าไปทางบก ก็มีแห่ทางขบวนรถหรือเดินขบวนกันไป มีแตรวงหรืออื่น ๆ เป็นการครึกครื้น ถ้าไปทางเรือก็มีแห่งทางขบวนเรือสนุกสนาน โดยมากมักแห่ไปตอนเช้า และเลี้ยงพระเพล การทอดกฐิน จะทอดในตอนเช้านั้นก็ได้ ทอดเพลแล้วก็ได้ สุดแล้วแต่สะดวก การเลี้ยงพระ ถ้าเป็นอย่างในชนบท ชาวบ้านจัดภัตตาหารเลี้ยงด้วย เจ้าของงานกฐินก็จัดไปด้วย อาหารมากมายเหลือเฟือ แม้ข้อนี้ ก็สุดแต่กาละเทศะแห่งท้องถิ่น

อนึ่ง ถ้าตั้งองค์กฐินในวัดที่จะทอดนั้น เช่น ในชนบทตอนเย็น ก็แห่งองค์พระกฐินไปตั้งที่วัด กลางคืนมีการฉลองรุ่งขึ้น เลี้ยงพระเช้าแล้ว ทอดกฐิน ถวายภัตตาหารเพล

การถวายผ้ากฐิน การถวายผ้ากฐินนั้น คือ เมื่อพระสงฆ์ประชุมพร้อมกันแล้ว เจ้าภาพ อุ้มผ้ากฐินนั่งหันหน้าตรงต่อพระประธาน ตั้งนะโม 3 จบ แล้วหันหน้ามาทางพระสงฆ์ กล่าวคำถวายผ้ากฐิน 3 จบ ถ้าเป็นกฐินสามัคคีก็มักเอาด้วยสายสิญจน์โยงผ้ากฐิน เมื่อจับได้ทั่วถึงกัน แล้วหัวหน้านำว่าคำถวาย ครั้นจบแล้ว พระสงฆ์รับว่า สาธุ เจ้าภาพก็ประเคนผ้าไตรกฐินแก่ภิกษุผู้เถระ ครั้นแล้วประเคนเครื่องบริขารอื่น ๆ เสร็จแล้ว พระสงฆ์ก็ทำพิธีมอบผ้าให้แก่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง ซึ่งเป็นพระเถระ มีจีวรเก่า รู้ธรรมวินัย ครั้นเสร็จแล้ว พระสงฆ์อนุโมทนา เจ้าภาพกรวดน้ำรับพร ก็เป็นอันเสร็จพิธีการทอดกฐินเพียงนี้

พิธีกรานกฐิน
พิธิกรานกฐินเป็นพิธีฝ่ายภิกษุสงฆ์โดยเฉพาะคือภิกษุผู้ได้รับมอบผ้ากฐินนั้นนำผ้ากฐินไปทำ เป็นไตรจีวรผืนใดผืนหนึ่ง เย็บ ย้อม แห้ง เรียบร้อยดีแล้ว เคาะระฆัง ประชุมกันในโรงพระอุโบสถ ภิกษุผู้รับผ้ากฐิน ถอนผ้าเก่าอธิษฐานผ้าใหม่ที่ตนได้รับนั้นเข้าชุดเป็นไตรจีวร เสร็จแล้ว ภิกษุรูปหนึ่ง ขึ้นสู่ธรรมาสน์แสดงพระธรรมเทศนา กล่าวคือเรื่องประวัติกฐินและอานิสงส์ครั้งแล้วภิกษุผู้รับผ้ากฐิน นั่งคุกเข่าตั้งนะโม 3 จบ แล้วเปล่งวาจาในท่ามกลางชุมนุมนั้น ตามลักษณะผ้าที่กรานดังนี้

ถ้าเป็นผ้าสังฆาฏิ เปล่งวาจากรานกฐินว่า "อิมายสงฺฆาฏิยา กฐินํ อตฺถรามิ" แปลว่า ข้าพเจ้ากรานกฐินด้วยผ้าสัมฆาฎินี้ (ในเวลาว่านั้นไม่ต้องว่าคำแปลนี้) 3 จบ

ถ้าเป็นผ้าอุตตราสงค์เปล่งวาจากรานกฐินว่า "อิมินาอุตฺตราสงฺเคน กฐินํ อตฺถรามิ" แปลว่าจ้าพเจ้ากรานกฐิน ด้วยผ้าอุตตราสงค์นี้ 3 จบ

ถ้าเป็นผ้าอันตรวาสก (สบง) เปล่งวาจากรานกฐินว่า "อิมินา อนฺตรวาสเกน กฐินํ อตฺถรามิ" แปลว่าข้าพเจ้ากรานกฐิน ด้วยผ้าอันครวาสกนี้ 3 จบ

ลำดับนั้น สงฆ์นั่งคุกเข่าพร้อมกันแล้วกรานพระ 3 หนเสร็จแล้ว ตั้งนโมพร้อมกัน 3 จบ แล้วท่านผู้ได้รับผ้ากฐินหันหน้ามายังกลุ่มภิกษุสงษ์ กล่าวคำอนุโมทนาประกาศดังนี้

"อตฺถตํ อาวุโส สงฺฆสฺส กฐินํ ธมฺมิโก กฐินตฺถาโร อนุโมทามิ" 3 จบ (แปลว่า อาวุโส! กฐินสงฆ์กราบแล้ว การกรานกฐินเป็นธรรม ข้าพเจ้าขออนุโมทนา)

คำว่า อาวุโส นั้น ถ้ามีภิกษุอื่นซึ่งมีพรรษามากกว่าภิกษุผู้ครองกฐินแม้เพียงรูปเดียวก็ตาม ให้เปลี่ยนเป็น ภนฺเต

ต่อนั้น สงฆ์ทั้งปวงรับว่า สาธุ พร้อมกันแล้วให้ภิกษุทั้งปวง อนุโมทนาเรียงองค์กันไปทีละรูป ๆ ว่า "อตฺถตํ ภนฺเต สงฺฆสฺส กฐินฺ ธมฺมิโก กฐินตฺถาโร อนุโมทามิ" 3 จบสงฆ์ทั้งปวงรับว่า สาธุ ทำดังนี้ จนหมดภิกษุผู้ประชุมอนุโมทนา

(ถ้าผู้อนุโมทนา มีพรรษษแก่กว่าสงฆ์ทั่งปวง ให้เปลี่ยนคำว่า ภนฺเต เป็น อาวุโส)

ในการว่าคำอนุโมทนานี้พึงนั่งคุกเข่าประนมมือเสร้จแล้วจึงนั่งพับเพียงลง

เมื่อเสร็จแล้ว ให้นั่งพร้อมกันคุกเข่าประนมมือ หันหน้าตรงต่อพระพุทธปฏิมา ว่าพร้อมกันอีก 3 จบ แต่ให้เปลี่ยนคำว่า อนุโมทามิ เป็น อนุโมทาม เป็นอันเสร็จไปชั้นหนึ่ง

ต่อแต่นั้นกราบพระ 3 หน นั่งพับเพียบ สวดปาฐะและคาถาเนื่องด้วยกรานกฐิน จบแล้วก็เป็นเสร็จพิธีการกรานกฐินอานิสงส์กฐินสำหรับพระ

ในพระวินัย ระบุอานิสงส์กฐินไว้ 5 คือ

1. เข้าบ้านได้โดยมิต้องบอกลาภิกษุด้วยกัน

2. เอาไตรจีวรไปโดยไม่ครบสำรับได้

3. ฉันอาหารเป็นคณะโภชน์ได้

4. เก็บจีวรไว้ได้ตามปรารถนา

5. ลาภที่เกิดขึ้นเป็นของเธอผู้จำพรรษาในวัดนั้น


คำถวายผ้ากฐินอย่างมหานิกาย
อิมํ สปริวารํ กฐินจีวรทุสฺสํ สงฺฆสฺส โอโณชยาม (ว่า 3 หน) แปลว่า "ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวายผ้ากฐินจีวรกับทั้งบริวารนี้ แด่พระสงฆ์"

คำถวายผ้ากฐิน อย่างธรรมยุตติกนิกาย
อิมํ ภนฺเต สปริวารํ กฐินนทุสฺสํ สงฺฆสฺส โอโณชยาม สาธุ โน ภนฺเต สงฺโฆ อิมํ สปริวารํ กฐินทุสฺสํ ปฏิคฺคณฺหาตุ ปฏิคฺคเหตฺวา จ อิมินา ทุสฺเสน กฐินํ อตฺถรตุ อมฺหากํ ทีฆรตฺตํ หิตาย สุขาย
แปลว่า "ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลายขอน้อมถวายผ้ากฐิน พร้อมทั้งบริวารนี้ ของข้าพเจ้าทั้งหลาย และครั้นรับแล้วขอจงกรานกฐินด้วยผ้านเพื่อประโยชน์และความสุข แก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย สิ้นกาลนาน

ในการทอดกฐินนี้ ยังมีกฐินและข้อพิเศษที่ควรนำมากล่าวไว้ด้วย คือ 1. จุลกฐิน 2.ธงจระเข้

1. จุลกฐิน มีกฐินพิเศษอีกชนิดหนึ่ง เรียกว่าจุลกฐินเป็นงานที่มีพิธีมาก ถือกันว่ามาแต่โบราณว่า มีอานิสงส์มากยิ่งนัก วิธีทำนั้น คือเก็บผ้ายมากรอเป็นด้วย และทอให้แล้วเสร็จเป็นผืนผ้าในวันเดียวกัน และนำไปทอดในวันนั้น กฐินชนิดนี้ ต้องทำแข่งกับเวลา มีผู้ทำหลายคน แบ่งกันเป็นหน้าที่ ๆ ไป ในปัจจุบันนี้ไม่ค่อยนิยมทำกันแล้ว

"วิธีทอดจุลกฐินนี้ มีปรากฏในหนังสือเรื่องคำให้การชาวกรุงเก่าว่า บางทีเป็นของหลวงทำในวันกลางเดือน 12 คือ ถ้าสืบรู้ว่าวัดไหนยังไม่ได้รับกฐิน ถึงวันกลางเดือน 12 อันเป็นที่สุดของพระบรมพุทธานุญาตซึ่งพระสงฆ์จะรับกฐินได้ในปีนั้น จึงทำผ้าจุลกฐินไปทอด มูลเหตุของจุลกฐินคงเกิดแต่จะทอดในวันที่สุดเช่นนี้ จึงต้องรีบร้อนขวนขวายทำให้ทัน เห็นจะเป็นประเพณีมีมาเก่าแก่ เพราะถ้าเป็นเช่นหลังก็จะเที่ยวหาซื้อผ้าไปทอดได้หาพักต้องทอใหม่ไม่" (จากวิธีทำบุญ ฉบับหอสมุด หน้า 119)

 

2. ธงจระเข้ ปัญหาที่ว่าเพราะเหตุไรจึงมีธงจระเข้ยกขึ้นในวัดที่ทอดกฐินแล้ว ยังไม่ปรากฎหลักฐาน และข้อวิจารณ์ อันสมบูรณ์โดยมิต้องสงสัย เท่าที่รู้กันมี 2 มติ คือ 1. ในโบราณสมัย การจะเดินทางต้องอาศัยดาวช่วยประกอบเหมือน เช่น การยกทัพเคลื่อนขบวนในตอนจวนจะสว่าง จะต้องอาศัยดาวจระเข้นี้ เพราะดาวจระเข้นี้ขึ้นในจวนจะสว่าง การทอดกฐิน มีภาระมาก บางทีต้องไปทอด ณ วัดซึ่งอยู่ไกลบ้าน ฉะนั้น การดูเวลาจึงต้องอาศัยดาว พอดาวจระเข้ขี้น ก็เคลี่อนองค์กฐินไปสว่างเอาที่วัดพอดี และต่อมาก็คงมีผู้คิดทำธงในงานกฐิน ในชั้นต้น ก็คงทำธงทิวประดับประดาให้สวยงานทั้งที่องค์กฐิน ทั้งที่บริเวณวัดและภายหลัง คงหวั่นจะให้เป็นเครื่องหมายเนื่องด้วยกรานกฐิน ดังนั้น จึงคิดทำธงรูปจระเข้ เสมือนประกาศให้รู้ว่าทอดกฐินแล้ว

2. อีกมติหนึ่งเล่าเป็นนิทานโบราณว่า ในการแห่กฐินในทางเรือของอุบาสกผู้หนึ่ง มีจระเข้ตัวหนึ่งอยากได้บุญจึงอุตส่าห์ว่ายตามเรือไปด้วย แต่ยังไม่ทันถึงวัดก็หมดกำลังว่ายตามต่อไปอีกไม่ไหว จึงร้องบอกอุบาสกว่า เหนื่อยนักแล้ว ไม่สามารถจะว่ายตามไปร่วมกองการกุศล วานท่านเมตตาช่วยเขียนรูปข้าพเจ้า เพื่อเป็นสักขีพยานว่าได้ไปร่วมการกุศลด้วยเถิด อุบาสกผู้นั้นจึงได้เขียนรูปจระเข้ยกเป็นธงขึ้นในวัดเป็นปฐม และสืบเนื่องมาจนบัดนี้

ประวัติของกฐิน
ประวัติของกฐินนั้นมีอยู่ว่า ครั้งหนึ่งภิกษุชาวเมืองปาฐา ประมาณ ๓๐ รูป มีความประสงค์จะไปเฝ้าพระพุทะเจ้า ณ เมืองสาวัตถี จึงพากันเดินทางจากเมืองปาฐาไปสาวัตถี แต่พอไปถึงเมืองสาเกต ซึ่งอยู่ในระยะทางอีก ๖ โยชน์จะถึงสาวัตถี ก็เผอิญถึงวันเข้าพรรษาภิกษุเหล่านั้นจะเดินทางต่อไปไม่ได้ จึงจำพรรษาอยู่ในเมืองสาเกต ในระหว่างจำพรรษามีความร้อนรนอยากเฝ้าพระพุทธเจ้าโดยเร็ว พอออกพรรษาก็ออกเดินทางจากเมืองสาเกต ในเวลานั้นฝนยังตกมากอยู่ ทางเดินก็เป็นโคลนตมเปรอะเปื้อน เมื่อมาถึงเมืองสาวัตถีได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าทรงทราบความลำบากของพระภิกษุเหล่านั้น จึงทรงอนุญาตให้พระภิกษุทำพิธีกรานกฐิน ในระยะเวลาภายหลังวันออกพรรษาแล้วไป ๑ เดือน ภิกษุที่ได้ทำพิธีกรานกฐินแล้ว ย่อมได้รับอานิสงส์ คือความยกเว้นในการผิดวินัย ๕ ประการ เป็นเวลา ๔ เดือน (หมดเขตในวันเพ็ญเดือนสี่) อานิสงส์หรือความยกเว้นทั้ง ๕ ประการนั้น คือ

๑. เข้าบ้านได้โดยไม่ต้องลาภิกษุด้วยกัน
๒. เดินทางโดยไม่ต้องเอาไตรจีวรไปด้วย
๓. ฉันอาหารโดยล้อมวงกันได้
๔. เก็บอาหารที่ยังไม่ต้องการใช้ ไว้ได้
๕. ลาภที่เกิดขึ้น ให้เป็นของภิกษุผู้จำพรรษาในวัดนั้น ซึ่งได้กรานกฐินแล้ว

ที่กล่าวนี้เป็นประวัติของกฐิน ซึ่งเก็บความจากพระบาลี แต่ข้อความที่กล่าวข้างต้นนี้ยังเข้าใจยาก และไม่แลเห็นว่าเหตุผลเนื่องถึงกันอย่างไร ฉะนั้นจึงต้องอธิบายขยายความสักเล็กน้อย

ตามหลักวินัย ภิกษุจะเข้าบ้านต้องบอกลากัน จะเดินทางต้องเอาไตรจีวรไปให้ครบชุดเวลาฉันอาหารต้องนั่งเรียงกัน จะล้อมวงกันไม่ได้ จึงที่เหลือใช้เก็บไว้ได้เพียง ๑๐ วัน ลาภที่เกิดขึ้นต้องให้แก่ภิกษุผู้มีอาวุโส คือที่บวชนานที่สุด ข้อบังคับเหล่านี้ ย่อมเป็นความลำบากแก่ภิกษุทั้งหลายเป็นอันมาก เช่นการเข้าบ้านต้องบอกลากันเสมอไปนั้น ถ้าเผอิญอยู่คนเดียว ไม่มีใครจะรับลา ก็เข้าบ้านไม่ได้ การเดินทางต้องเอาไตรจีวรไปให้ครบ หมายความว่าต้องเอาผ้านุ่งห่มไปให้ครบชุด คือ สบง (ผ้านุ่ง) จีวร (ผ้าห่ม) สังฆาฏิ (ผ้าซ้อนผ้าห่ม) ในครั้งก่อน ภิกษุไม่มีโอกาสได้ผ้าบางเนื้อละเอียดอย่างสมัยนี้เสมอไป ถ้าไปได้ผ้าเปลือกไม้หรือผ้าอะไรชนิดหนา การที่จะนำเอาไปด้วยนั้นไม่เป็นการง่าย ภิกษุ ๓๐ รูปที่เดินทางมาเฝ้าพระพุทธเจ้า ก็ได้รับความลำบากในเรื่องนี้มาแล้ว การห้ามฉันอาหารล้อมวง และบังคับให้นั่งเรียงกันฉันอาหารนั้น ถ้ามีอาหารน้อยก็ทำความลำบาก เราทราบอยู่แล้วว่าการรับประทานแยกกันย่อมปลีกอาหารมากกว่าการรับประทานรวมกัน เรื่องนี้ภิกษุ ๓๐ รูป ที่เดินทางมาเฝ้าพระพุทธเจ้า ก็คงได้รับประสบความลำบากเรื่องนี้มา ในระหว่างทางเหมือนกัน เรื่องจีวรที่ไม่ต้องการใช้นั้น ในชั้นเดิมเป็นความมุ่งหมายของพระพุทธเจ้า ที่จะไม่ให้พระภิกษุเก็บสะสมทรัพย์สมบัติ ถ้ามีอะไรเหลือใช้ จะเก็บไว้ไม่ได้ ต้องให้คนอื่นเสีย โดยเฉพาะเรื่องจีวรนี้มีบัญญัติว่า ถ้ามีจีวรเหลือใช้เก็บไว้ได้เพียง ๑๐ วัน พัน ๑๐ วันไปแล้วต้องสละให้คนอื่นไป ถ้าจะไม่สละต้องทำพิธี ๒ อย่าง อย่างหนึ่งเรียกว่า วิกัปคือไปทำความตกลงกับภิกษุอีกรูปหนึ่งให้เป็นเจ้าของจีวรด้วยกัน แล้วมอบให้ตนเก็บไว้ อีกอย่างหนึ่งเรียกว่า อธิษฐานคือถ้าจีวรที่เหลือใช้นั้นใหม่กว่าของที่ใช้อยู่ ก็เอามาใช้เสีย แล้วสละของเก่าให้คนอื่นไป การห้ามกวดขันไม่ให้เก็บผ้าจีวรไว้เกินต้องการเช่นนี้ ในบางครั้งก็เกิดความลำบากเช่น ถูกขโมยลักจีวร ซึ่งเคยถูกกันมามากในครั้งพุทธกาล หรือมีเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งที่ทำให้จีวรนั้นใช้ไม่ได้ ก็ไม่มีสำรองเสียเลย ในเรื่องลาภที่เกิดขึ้นในวัดนั้น มีข้อบังคับกวดขันว่าให้ได้แก่ภิกษุที่มีพรรษายุกาลมากที่สุด คือที่บวชก่อนคนอื่น ในเรื่องนี้ทำความเดือดร้อนหลายครั้ง เช่นภิกษุอยู่ในวัดเดียวกัน อดอยากมาด้วยกัน มีผู้เอาของมาถวาย และในวันที่มีผู้เอาของมาถวายนั้น เผอิญมีภิกษุจรมาพักอยู่ในวัดนั้นด้วย และภิกษุจรมีพรรษายุกาลมากกว่าภิกษุที่อยู่ในวัด ลาภนั้นก็ต้องตกเป็นของภิกษุที่จรมา ส่วนภิกษุที่อยู่ในวัดก็ไม่มีส่วนได้

ความขัดข้องลำบากเกิดจากทางวินัยอย่างนี้ พระพุทธเจ้าได้ทรงเห็นมานานแล้ว แต่วินัยของพระพุทธเจ้าไม่เหมือนกฎหมาย คือกฎหมายที่บัญญัติไว้แล้ว ถ้ารู้สึกว่าไม่ดีก็ประกาศเลิก และบัญญัติใหม่ ส่วนวินัยของพระพุทธเจ้าประกาศเลิกไม่ได้ ได้แต่งดชั่วคราว หรือมีข้อยกเว้นพิเศษให้ เมื่อได้ทรงเห็นความลำบากของภิกษุที่มาเฝ้า ทรงเห็นชัดว่าควรให้ความยกเว้นในเรื่องหอบหิ้วเอาไตรจีวรมา และทรงยกเว้นในข้อนี้ ก็เลยทรงประทานข้อยกเว้นอื่น ๆ ที่ทรงดำริมาแล้วแต่ก่อนด้วย จึงเกิดมีข้อยกเว้นขึ้น ๕ ข้อดังกล่าวมาข้างต้น

แต่การที่งดใช้วินัยชั่วคราว หรือให้ความยกเว้นเป็นพิเศษนั้น จะให้กันเฉยๆ ไม่ได้ พระภิกษุต้องได้ทำความดีอันใดอันหนึ่ง จึงจะได้รับความยกเว้น ฉะนั้นการที่จะให้ภิกษุได้รับความยกเว้นในข้อนี้ พระพุทธเจ้าจึงทรงบัญญัติให้มีพิธีกรานกฐิน พิธีกรานกฐินต้องถือเป็นความดีความชอบอย่างหนึ่ง เพราะการทำจีวรในสมัยนั้นไม่ใช่ของง่าย ๆ ตามปกติเวลามีการทำจีวร ภิกษุย่อมได้รับความยกเว้นในวินัยหลายข้ออยู่แล้ว เมื่อต้องมาทำจีวรโดยรีบร้อนให้เสร็จในวันเดียว และตกเป็นสมบัติของคณะสงฆ์อีกเช่นนี้ ก็ควรเป็นความชอบที่พึงได้รับความยกเว้นใน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น